สิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับบาสเกตบอล เอ็นบีเอ รอบชิงชนะเลิศ (NBA Finals) ปีนี้คือ ทั้งซันส์และบัคส์ ต่างก็ถูกมองว่าเป็นทีมนอกสายตา สำหรับคนทั่วไปที่ติดตามบาสเกตบอล ยิ่งสำหรับคนที่ไม่เคยติดตามบาสเกตบอลมาก่อน อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อของ ซันส์ และ บัคส์ สักเท่าไหร่ เพราะขุมกำลังของทั้งสองทีม ล้วนไม่เคยมีประสบการณ์สัมผัสกับรสชาติแห่งชัยชนะในนัดชิงชนะเลิศ NBA เลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจาก สิ่งที่ซันส์และบัคส์มีเหมือนกันคือ ปรัชญาการปั้นนักบาสที่ไม่ได้มีดีกรีระดับซูเปอร์สตาร์ ไม่ได้เน้นทุ่มเงินลงทุนเพื่อสร้างซูเปอร์ทีมตามที่หลายสังกัดใหญ่ๆ กำลังทำอยู่ และอะไรกันที่ทำให้ทั้งสองทีมนี้ยังเชื่อในการ “สร้าง” มากกว่า “เสริม”
ซูเปอร์ทีมใน NBA มันก็คือการมีผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์รวมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือจะ 3 คน 4 คน ก็แล้วแต่ เมื่อสอบถามความคิดเห็นหลายคนว่ามันดีมั้ย? แน่นอนส่วนใหญ่ก็บอกว่าดี เพราะมันเป็นโอกาสไปสู่ความสำเร็จได้จริงยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันวงการกีฬาบาสใน NBA กำลังเดินตามเส้นทางนี้อยู่ แม้กระทั่งวงการกีฬาชนิดอื่น ๆ ที่แข่งขันกันเป็นทีม โดยเฉพาะทีมฟุตบอลก็มีในทุกลีก ความต้องการชัยชนะคว้าแชมป์เป็นเป้าหมายหลัก และเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจก็สำคัญไม่เป็นรอง เพราะถ้าลงทุนไปแล้วการใช้เวลาเพียงระยะสั้น ๆ จะถือเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น
แต่เผอิญสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดเหมือนกัน ดันไม่เกิดกับทีมคู่ชิง NBA ในปีนี้ระหว่าง ฟินิค ซันส์ และ มิววิ๊กกี้ บัคส์ สิ่งที่ทั้งสองทีมมีเหมือนกันคือ ไม่ได้มีผู้เล่นดีกรีระดับซูเปอร์สตาร์เลย เราลองมาเริ่มเจาะที่ทีม ฟินิค ซันส์ ทีมที่อยู่ในรัฐอริโซน่า อันร้อนตับแตกเกิดขึ้นเมื่อปี 1968 จากบรรดากลุ่มนักธุรกิจในเมือง ที่เห็นว่าเมืองของตัวเองนั้นไม่มีทีมกีฬาชนิดใด ๆ อยู่เลย แต่คนในเมืองนั้นชอบดูการถ่ายถอดอเมริกันฟุตบอลมาก นักธุรกิจเหล่านี้กลับเปิดความคิดสวน ไปจัดตั้งทีมบาสเกตบอลสะงั้น หลายคนหัวเราะก่อนเลย ใครจะบ้ามาดูบาสเกตบอล ในเมืองที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย
เมื่อมีการหาเสียงแนวร่วม และเงินลงขันกันมาได้ประมาณ 2 ล้านเหรียญ ซึ่งในสมัยนั้นเงินจำนวนนี้ถือว่าสูงมากทีเดียว ดำเนินการจัดตั้งทีมบาสเกตบอลตามชื่อเมือง ฟินิค และต่อท้ายด้วยชื่อเล่น ซันส์ ที่สื่อว่าเป็นเมืองที่โครตร้อน ไม่รู้ประชดหรือจะเอาฮา แต่มันก็มาจากผลโหวตของชาวเมืองนี้ล่ะ แน่นอนเป็นทีมน้องใหม่ก็ต้องสร้างผู้เล่นดาวรุ่งขึ้นมาเอง หรือดึงผู้เล่นมาจากทีมอื่น ๆ แต่อยู่ในเกรดกลาง ๆ เช่นกัน
เรามาต่อกันที่ทีม มิววิ๊กกี้ บัคส์ กันบ้างครับ ทีมก็ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับ ฟินิค ซันส์ ในปีเดียวกันเลยคือปี 1968 จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่คิดอยากจะทำธุรกิจด้านกีฬา จึงได้ศึกษาข้อบังคับและกฎระเบียบต่าง ๆ ในเมือง จนขอจัดตั้งทีมบาสเกตบอลขึ้นมาได้ และแน่นอนการตั้งชื่อก็เอาชื่อเมืองขึ้นหน้า และตามด้วยชื่อเล่นต่อท้าย จนมาได้คำว่า บัคส์ ที่แปลว่ากวางหางขาวสัตว์ในเมืองท้องถิ่น มีลักษณะคล่องแคล่วว่องไว ตื่นตัวตลอดเวลา ถ้าเรียกแบบสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าเป็น กวางดีด ประมาณนั้นครับ มีหลักการสร้างทีมเดียวกันคือค้นหาผู้เล่นดาวรุ่ง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากในเมืองนี้ เพราะเชื่อว่าพวกเขาจะพร้อมทุ่มเท และเป็นกำลังสำคัญในระยะยาว รักและอยู่ร่วมกันไปนาน ๆ และเสริมด้วยผู้เล่นจากเมืองอื่น ๆ ด้วย โดยมีเป้าหมายเดินไปสู่ความสำเร็จด้วยกันปี 2021 เป็นยุคของซูเปอร์ทีมจริง ๆ ทีมที่ดัง ๆ มีนักบาสเกตบอลชั้นนำมากว่า 2 คนขึ้นไปทั้งนั้น แต่ผลงานกลับสวนทางนะครับ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ปลายฤดูกาลอาจมีตัวเจ็บมากขึ้น และดูแล้วไล่ตามไม่ทันแน่ ผู้เล่นเลยไม่อยากฝืนร่างกายเยอะ เพราะถ้าเจ็บหนักขึ้นมาฤดูกาลหน้าลำบากแน่ ๆ โมเมนตัมมันเลยหมุนไปที่ทีมอย่าง ฟินิค ซันส์ และ มิววิ๊กกี้ บัคส์ ที่เผอิญดันไม่มีดาราประจำทีม แต่ทุกคนเล่นกันได้อย่างลงตัว มีผู้เล่นทดแทนกันได้แบบไม่ตกมาตรฐาน รักษาฟอร์มยืนระยะได้ยาว มันเลยเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของปีนี้ คู่ชิงที่เป็นม้านอกสายตาของแฟนบาสเกตบอล NBA ส่วนแฟนกีฬาบ้านเราคิดเห็นอย่างไรกันบ้างล่ะครับ ระหว่างซูเปอร์ทีม กับ ทีมสร้าง อันไหนจะแท้จริงกว่ากันครับ