เส้นทางของทัพนักเตะทีมชาติไทย ในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก จะจบลงไปแล้วด้วยความผิดหวัง แน่นอนว่าแฟนบอลทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ทาง ร่วมกันเคาะแป้นพิมพ์วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ตัวโค้ช ผู้เล่น แนวทางการทีม ไม่เว้นแม้แต่ “การโอนสัญชาติ” ที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีหลายประเทศรวมถึงละแวกเพื่อนบ้าน ที่นำวิธีนี้มาใช้ เพื่อเป็นทางลัดในการประสบความสำเร็จ
ถ้าย้อนไปสักสิบกว่าปีในทวีปเอเชีย ทีมที่เป็นผู้ริเริ่มเรื่องการโอนสัญชาตินักเตะ คือ ทีมชาติญี่ปุ่น และทีมชาติจีน ไม่มีเหตุผลอะไรซับซ้อนเลย นอกจากต้องการประสบความสำเร็จ แม้ภาพที่ออกมาจะดูขัดใจใครหลาย ๆ คนไปบ้างก็ตาม ส่วนประเทศในเขตอาเซียนและเพื่อนบ้านเราก็มีอย่าง ประเทศสิงค์โปร และมาเลเซีย ที่เห็นมีนักเตะโอนสัญชาติมาเล่นกันเยอะสุด แต่ประเทศอย่างฟิลิปินส์นั้น จะใช้วิธีค้นหานักเตะที่เป็นลูกครึ่งมากกว่า
ประเทศไทยเรามีแค่นักเตะลูกครึ่ง แต่ยังไม่มีกรณีที่โอนสัญชาติมาจริง ๆ เพราะกฎระเบียบ กฎหมายของบ้านเราค่อนข้างเข้มงวดมากถึงมากที่สุดเลย ดูอย่างกรณีของ โค้ช เช ของทีมเทควันโด ทีมชาติไทยกว่าจะได้เดินเรื่องจริง ๆ จัง ๆ และประสบผลสำเร็จต้องใช้ระยะเวลานานร่วม 20 ปี โดยก่อนหน้านี้เคยมีเคสอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นผู้ฝึกสอนชาวจีนของทีมแบตมินตัน ทีมชาติไทย โค้ชชาวจีนคนนี้ได้อยู่เมืองไทยมากกว่า 20 ปี คุณสมบัติองค์ประกอบต่างๆ เข้าเกณฑ์ จึงได้รับการพิจารณา
เรื่องของตัวนักกีฬาต่างชาติที่จะขอโอนมาติดทีมชาติไทยนั้น ยังไม่มีให้เห็นนะครับ แต่เชื่อว่ามีคนคิดแน่ ๆ ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นประเทศขนาดใหญ่ และไม่ได้เป็นผู้นำในเวทีระดับนานาชาติ แต่เรื่องการรับโอนสัญชาตินั้น ถือว่าเข้มงวดมากที่สุดประเทศหนึ่ง มันสืบเนื่องมาจากปัญหาความมั่นคงในครั้งอดีต จึงมีการออกกฎหมายเรื่องนี้ไว้อย่างเข้มงวด และยึดถือใช้มาจนปัจจุบัน ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น ใครสนใจค้นหาดูได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย มีบอกขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ การกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติของผู้ยื่นเอาไว้เยอะมาก ๆ
การที่ฟุตบอลทีมชาติไทย อยากจะใช้วิธีโอนสัญชาตินักกีฬานั้น เป็นความคิดเห็นหนึ่งครับ แต่เมื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว มันเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ แค่เจอกฎหมายระเบียบของประเทศไทยที่ไม่ใช่ง่าย ๆ เลย แล้วไหนจะกฎระเบียบของทาง ฟีฟ่า ที่กำหนดเรื่องคุณสมบัติของนักฟุตบอลที่จะโอนสัญชาติว่า จะต้องเล่นและอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ เป็นเวลา 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งก็ดูยากเหมือนกันครับ